|
|
||||||||||||||
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้มอบหมายให้ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ (Museum of Imaging Technology) เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และรัชมังคลาภิเษกสมโภช อีกทั้งเป็นวาระสำคัญที่การถ่ายภาพของโลกมีกำเนิดมาครบ 153 ปี ในการนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ
มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพภายในบริเวณคณะวิทยาศาสตร์ มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2531 การก่อสร้างและตกแต่งภายในพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ แล้วเสร็จในกลางเดือนกรกฎาคม 2534 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดให้มีการแสดงวิวัฒนาการของกล้องถ่ายภาพและภาพถ่ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล้องอิเล็กทรอนิกส์ วีดิทัศน์ การแสดงภาพถ่ายร่วมสมัย การแสดงธรรมชาติของแสงและสี ซึ่งเป็นพื้นฐานของศิลปะการถ่ายภาพ การแสดงภาพสามมิติ โฮโลแกรม การจัดแสดงภาพสไลด์อเนกทัศน์ ภาพยนต์ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการถ่ายภาพแก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งการจัดแสดงวิวัฒนาการและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการพิมพ์และวัสดุพิมพ์ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้สนใจด้านการถ่ายภาพได้มีโอกาสสัมผัสกับกระบวนการวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย วีดิทัศน์ และการพิมพ์ตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อช่วยกระตุ้นและเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ของเยาวชนและช่วยให้ผู้ที่สนใจด้านการถ่ายภาพ วีดิทัศน์ และการพิมพ์ได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้า เพื่อพัฒนาเทคนิคและศิลปะเทคโนโลยีทางภาพ นอกจากนั้นพิพิธภัณฑ์ทางภาพแห่งนี้ยังทำหน้าที่เก็บรักษาและอนุรักษ์กล้องถ่ายภาพและภาพถ่ายที่มีคุณค่าให้เป็นสมบัติของประเทศไทยชั่วกาลนานอีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและศิลปวัฒนธรรม สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่มนุษย์มีต่อกัน เพราะการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพเป็นผลสัมฤทธิ์ได้ด้วยความพยายามของบุคลากรหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นเวลานานนับปีโดยได้รับความร่วมมือและการบริจาคสิ่งของอันหาค่ามิได้จากบริษัทผู้ผลิตฟิล์มและกล้องถ่ายภาพชั้นนำ องค์กร ตลอดจนเอกชนรายบุคคล ทั้งจากภายในและต่างประเทศทั่วโลก |